วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

New : ข่าวรอบบ้าน สาระน่ารู้

ถึงคิวของ เชียงรายแล้วซินะ กลับมาเพื่อปั่นราคากันอีกแล้ว มีปั่นรับปล่อย อย่าเป็นแมลงเม๋า ให้ใครกันนะครับ ^^

By :G2

เคดิต : มติชนออนไลน์

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์

เส้นทาง R3A หรือเส้นทาง "คุน มั่ง-กงลู่"จากจังหวัดเชียงรายถึงเมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีระยะทางประมาณ 1,140 กิโลเมตร ถือเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เส้นทางหนึ่งของจีน ที่จะใช้ขนส่งสินค้าจากภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนไปออกทะเลที่ประเทศไทย

โดยที่ยังมีเส้นทางอื่น อาทิ เส้นทาง R3B เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ของจีนออกไปสู่ทะเลที่ประเทศเมียนมา ในขณะที่จีนใช้ เมืองหนานหนิง ผ่านเวียดนามเข้าสู่อาเซียน รวมถึงใช้ ท่าเรือจ้าวผิ่ว KYAUKPYU) ในเมียนมาฝั่งอันดามันเพื่อไปออกทะเลจาก เมืองรุ่ยลี่ (RUILI) ต่อไปที่ เมืองลาโช (LASHIO) ผ่าน เมืองมัณฑะเลย์ รวมระยะทางประมาณ 800-1,000 กิโลเมตร

จะเห็นได้ว่าจีนวางยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกสู่ทะเลทั้งทางใต้และตะวันตก เพราะปัจจุบันจีนออกทะเลได้เฉพาะด้านแปซิฟิกเท่านั้น



ย้อนกลับมาเส้นทาง R3A ซึ่งจีนให้ความสำคัญในการเป็นเส้นทางเชื่อมจีน ลาว ไทย เพื่อต่อไปมาเลเซียและสิงคโปร์ เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้วจีนได้จัดงาน International Logistics ขนาดใหญ่ในเมืองคุนหมิง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว มณฑลยูนนาน ก็ได้ประกาศนโยบายให้ความสำคัญกับเส้นทาง R3A ในการขนส่งสินค้าประเภทของสด อาหารทะเล ระหว่างจีน ลาว ไทย ผู้เขียนเองได้รับเชิญจากรัฐบาลยูนนานไปบรรยายเรื่อง "บทบาทและความสำคัญของเส้นทาง R3A"

การที่จีนให้ความสำคัญกับเส้นทาง R3A เพราะจีนใช้เส้นทางนี้ในระบบ Backhauling หรือการขนส่งสินค้าจากจีนมาไทยแล้วขนส่งสินค้าจากไทยไปจีน โดยใช้รถคันเดียวกัน ทำให้ต้นทุนในการขนส่งสินค้าต่ำ ปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-จีนนั้น จีนจะใช้ "เมืองบ่อเต็น" ซึ่งเช่าจากลาว 99 ปีเป็นศูนย์กลางขนถ่ายสินค้า เมืองบ่อเต็นนี้เป็นเมืองชายแดนลาวติดกับ "เมืองบ่อหาน" (หรือโมฮั่น) ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของจีน

ในการขนส่งสินค้าทั่วไป จีนจะใช้รถบรรทุกขนสินค้าจากเมืองเชียงรุ้ง (จิ่งหง) คุนหมิง และเมืองใกล้เคียงคุนหมิงไปที่บ่อเต็น ในขณะเดียวกัน สินค้าจากประเทศไทยก็ไปเปลี่ยนถ่ายที่บ่อเต็นเช่นเดียวกัน

การที่รถไทยและรถจีนเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่บ่อเต็นเป็นเพราะไทยกับจีนยังไม่ได้ลงนามในเรื่องยานพาหนะข้ามพรมแดนแต่ไทยและจีนลงนามในเรื่องยานพาหนะข้ามพรมแดนกับ สปป.ลาว เมืองบ่อเต็นจึงเป็นจุดนัดขนถ่ายสินค้าระหว่างไทย-จีนไป

ทุกวันนี้การขนถ่ายหรือเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่บ่อเต็นยังคงใช้แรงงานเป็นหลักและอาจกล่าวได้ว่าจีนมีอิทธิพลอย่างมากด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ในเส้นทาง R3A

ล่าสุดมีข้อมูลว่าจีนได้จัดสร้าง ศูนย์ขนส่งกระจายสินค้าและศูนย์ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ (Distribution Center : DC) ที่เมืองบ่อหาน ห่างจากชายแดนบ่อเต็นประมาณ 10 กิโลเมตร โดยมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 172,000 ตารางเมตร คาดว่าศูนย์กระจายสินค้าและศูนย์ร้านค้าปลีกแห่งนี้ นอกจากจะเป็นศูนย์จัดเก็บกระจายสินค้าแล้ว ยังทำเป็นศูนย์การค้าที่มีสภาพการค้าและธุรกิจแบบเมืองเศรษฐกิจชายแดนด้วย

จีนคิดอย่างไรในการสร้างศูนย์แห่งนี้?มีประโยชน์และผลกระทบต่อไทยอย่างไร ? เราต้องเตรียมตัวรับมือหรือจับมือกับจีนอย่างไร ?

คำถามข้างต้นเป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการไทยและเจ้าหน้าที่รัฐต้องสนใจ ดังที่กล่าวแล้วว่าจีนมีอิทธิพลสูงมากด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ที่ติดต่อกับลาวและไทย ทั้งที่ท่าเรืออำเภอเชียงแสนและเชียงของ เพราะจีนเปิดบริษัทขนส่งและบริษัทโลจิสติกส์ในประเทศไทย รวมทั้งลงทุนในโครงการโลจิสติกส์ระดับใหญ่ในเชียงราย

หากพิจารณาเส้นทาง R3A ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นจาก อ.เชียงของฝั่งไทย ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวไปฝั่งบ้านห้วยทรายของ สปป.ลาว จากห้วยทรายไปบ่อเต็นระยะทาง 250 กิโลเมตร จากบ่อเต็นข้ามไปบ่อหาน จากบ่อหานไปเชียงรุ้ง (จิ่งหง) ประมาณ 200 กิโลเมตร จากเชียงรุ้งไปคุนหมิง 560 กิโลเมตร รวมระยะทางจากเชียงรายไปคุนหมิงประมาณ 1,140 กิโลเมตร ขณะที่ทุกวันนี้จีนขนส่งสินค้าประเภทพืชผักผลไม้จากคุนหมิงไปที่บ่อเต็นระยะทางประมาณ 780 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน แต่จะมีปัญหาในการขนถ่ายสินค้าสู่รถขนส่งไทย เพราะโอกาสที่สินค้าจะเน่าเสียมีสูงมาก การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าที่บ่อหานจึงน่าจะเป็นการจัดการสินค้าจากเชียงรุ้ง คุนหมิง เพื่อจัดเก็บและรีแพ็กสินค้าไทยเตรียมเข้าสู่จีนเช่นกัน

ผลที่จะตามมาก็คือ โอกาสที่สินค้าจีนจะเข้าสู่ประเทศไทยจะมีมากขึ้นและเร็วขึ้น ขณะเดียวกัน สินค้าไทยก็จะมีโอกาสเข้าสู่จีนมากขึ้นและเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน แต่จีนจะเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างมากในการควบคุมเส้นทางการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ในเส้นทาง R3A และสามารถกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆได้

เราควรทำอย่างไร ?

ประเด็นแรก ผู้ประกอบการไทยต้องหาผู้ประกอบการลาวและจีนในการทำธุรกิจร่วมกันด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น จับจองพื้นที่ใน DC บ่อหาน เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสินค้าไทยเข้าสู่จีน รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการตั้งศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าที่บ่อหาน รัฐต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ เช่น ช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผู้ประกอบการต้องรวมตัวกันเพื่อรองรับการแข่งขันและสร้างอิทธิพลจากกลุ่มทุนของจีน

คาดว่าอาจมีความเป็นไปได้ว่าจีนอาจจะมีมาตรการผ่อนปรนให้รถบรรทุกไทยข้ามจากบ่อเต็นไปบ่อหานเพื่อเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่DC ในบ่อหาน

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ดังกล่าวอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ แต่การที่จีนสร้าง DC ในบ่อหานทั้งที่มีโลจิสติกส์ แพ็ก ในบ่อเต็น ก็แสดงว่าจีนคงจะมีการเตรียมการบางอย่างรองรับเส้นทางการค้าบนเส้นทาง R3A ประกอบกับจีนพยายามพัฒนาให้ศูนย์แห่งนี้มีสภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่แบบชุมชนเมือง ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เกิดขึ้น จึงอาจมองว่าจีนจะผลักดันให้บ่อหานเป็น แหล่งชุมชนใหม่ของจีน ใกล้ชายแดนลาวและไทย เป็นการกระจายความเจริญจากคุนหมิงและเชียงรุ้งไปสู่เมืองชายแดน ขณะเดียวกัน ก็เป็นแหล่งรองรับการท่องเที่ยวบนเส้นทาง R3A เหมือนกับที่จีนได้พัฒนาให้เชียงรุ้งและเมืองหล้าเป็นเมืองท่องเที่ยวในเส้นทาง R3A มาแล้ว

ดังนั้น การศึกษาศูนย์กระจายสินค้าและศูนย์ค้าปลีกที่บ่อหาน จึงเป็นเรื่อง Trade Logistics เรื่องหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสนใจและน่าจะมีการพูดถึง